ชื่อรายงานการวิจัยแนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้กฎหมายมรดกสำหรับพระสงฆ์ในจังหวัดแพร่
ผู้วิจัยนางสาวสุพิชญา กันกา
ส่วนงานมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ 
 ปีงบประมาณ๒๕๖๔
ทุนอุดหนุนการวิจัยกองทุนวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ 
           การศึกษาวิจัยเรื่อง “แนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้กฎหมายมรดกสำหรับพระสงฆ์ในจังหวัดแพร่” ครั้งนี้ผู้วิจัยทำการศึกษาแนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้กฎหมายมรดกสำหรับพระสงฆ์ในจังหวัดแพร่ 
มีวัตถุประสงค์ในการวิจัยคือ ๑) เพื่อศึกษากฎหมายมรดกสำหรับพระสงฆ์ ๒) เพื่อศึกษาสภาพทั่วไปของการส่งเสริมการเรียนรู้กฎหมายมรดกสำหรับพระสงฆ์ 
๓) เพื่อเสนอแนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้กฎหมายสำหรับพระสงฆ์ในจังหวัดแพร่ ทำการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ (QualitativeResearch) คณะผู้วิจัยได้ศึกษาข้อมูลจากเอกสาร ตำรา และสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มประชากรที่กำหนด(In-depth-interview) คือพระสงฆ์ในจังหวัดแพร่ จำนวน ๒๐ รูป
           ผลการวิจัยพบว่า จากการสัมภาษณ์เรื่องสภาพทั่วไปของการส่งเสริมการเรียนรู้กฎหมายมรดกสำหรับพระสงฆ์ในจังหวัดแพร่ ใน ๓ ประเด็น คือ ด้านองค์ความรู้ ด้านเนื้อหา และด้านประโยชน์ ในด้านองค์ความรู้พระสงฆ์ส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายมรดกในขั้นพื้นฐานด้านเนื้อหาพระสงฆ์ส่วนใหญ่มีความเห็นว่ากฎหมายมรดกในประเด็น พินัยกรรม มีประโยชน์ต่อการบริหารจัดการภายในวัดมากที่สุด เพราะเห็นว่าเมื่อพระสงฆ์สามารถทำพินัยกรรมได้อย่างถูกต้องก็จะลดปัญหาความขัดแย้งในเรื่องของการจัดการ การแบ่งปันทรัพย์มรดกได้ ด้านประโยชน์กฎหมายมรดกมีประโยชน์ต่อการบริหารจัดการวัดทั้ง ๖ ด้าน เพราะกฎหมายมรดกช่วยให้ได้มาหรือรักษาทรัพย์สินของวัด เพื่อเป็นปัจจัยสนับสนุนและส่งเสริมให้การบริหารจัดการวัดทั้ง ๖ ด้าน
          สำหรับแนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้กฎหมายสำหรับพระสงฆ์ในจังหวัดแพร่นั้นพบว่า มีแนวทางที่สำคัญ ๔ ประการ ๑) การบริการให้ความรู้ทางกฎหมายมรดกแก่พระสงฆ์ คือการจัดโครงการเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายมรดกให้แก่พระสงฆ์ ๒) การสนับสนุนให้พระสงฆ์เข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีทางด้านนิติศาสตร์ 
๓) สนับสนุนให้พระสงฆ์ที่มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายมรดกเผยแผ่ความรู้ที่ได้จากการศึกษากฎหมายมรดกสู่คณะสงฆ์เป็นพระลูกวัดและคณะศรัทธาประชาชน ในโอกาสต่าง ๆ ๔) สนับสนุนส่งเสริมให้วัดเป็นสถานที่ไกล่เกลี่ยปรองดองเบื้องต้นหากเกิดข้อพิพาทเล็ก ๆ น้อย ๆ ทางกฎหมายมรดก








ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *