ชื่อรายงานการวิจัย : | การศึกษาความรู้ความเข้าใจและแนวทางการพัฒนาของผู้นำชุมชนในเรื่องกฎหมายมรดก : กรณีศึกษาในตำบลป่าแดง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ |
ผู้วิจัย : | นางสาวสุพิชญา กันกา |
ส่วนงาน : | มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ |
ปีงบประมาณ : | ๒๕๖๓ |
ทุนอุดหนุนการวิจัย : | กองทุนวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ |
การศึกษาวิจัยเรื่อง “การศึกษาความรู้ความเข้าใจและแนวทางการพัฒนาของผู้นำชุมชนในเรื่องกฎหมายมรดก : กรณีศึกษาในตำบลป่าแดง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่” มีวัตถุประสงค์ใน การศึกษาวิจัยคือ
๑) เพื่อศึกษาความรู้ความเข้าใจในกฎหมายมรดกของผู้นำชุมชน และ ๒) เพื่อศึกษาแนวทางในการพัฒนาผู้นำชุมชนในเรื่องกฎหมายมรดก ทำการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) คณะผู้วิจัยได้ศึกษาข้อมูลจากเอกสาร ตำรา และลงพื้นที่ภาคสนาม (FieldStudy) ในตำบลป่าแดง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ โดยใช้แบบสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depthinterview) กับกลุ่มเป้าหมายจำนวน 30 คน และสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussions) จำนวน 10 คน
ผลการวิจัยพบว่า มรดกในความเข้าใจของผู้นำชุมชนในเรื่องกฎหมายมรดกนั้น ส่วนใหญ่มีความเข้าใจว่ามรดก หมายถึง สิ่งที่ทายาทได้รับตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินทุกชนิด เช่น ที่ดิน บ้าน รถยนต์ เครื่องประดับ อัญมณี ทรัพย์สินเงินทอง เงินในธนาคาร ที่มีมาก่อนที่เจ้าของจะถึงแก่ความตาย รวมทั้งสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ เช่น กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ กรรมสิทธิ์ในที่ดิน รวมถึงหนี้สิน โดยจะเป็นมรดกตกทอดสู่ทายาทก็ต่อเมื่อเจ้าของถึงแก่ความตาย ซึ่งทายาท มี ๒ ประเภท คือ ทายาทโดยธรรม หมายถึง บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย หลาน เหลน บิดา มารดา พี่ น้อง สามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ทายาทโดยพินัยกรรม คือ ผู้ที่ถูกระบุไว้ในพินัยกรรมตามคำสั่งเสียของเจ้ามรดกนั่นเอง ซึ่งผู้นำชุมชนส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายมรดกในขั้นพื้นฐานแต่ยังไม่ครอบคลุมประเด็นที่สำคัญอื่น ๆ
สำหรับแนวทางในการพัฒนาผู้นำชุมชนในเรื่องความรู้ความเข้าใจในกฎหมายมรดกนั้นพบว่า มีแนวทางที่สำคัญ ๔ ประการ คือ ๑) การบริการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ผู้นำชุมชน คือการจัดโครงการเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายมรดกให้แก่ผู้นำชุมชน ๒) จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพด้านกฎหมายให้กับผู้นำชุมชน โดยการจัดตั้งคลินิกกฎหมาย หรือคลินิกยุติธรรม หรือศูนย์ให้คำแนะนำด้านกฎหมายเคลื่อนที่ให้กับผู้นำชุมชน ๓) ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เรื่องกฎหมายมรดกสามารถทำผ่านสื่อต่าง ๆ ของชุมชน เสียงตามสายในหมู่บ้าน หนังสือพิมพ์ในท้องถิ่น สื่อออนไลน์ต่าง ๆ ๔) จัดตั้งศูนย์ประสานงานของผู้นำชุมชนในพื้นที่ ทำหน้าที่ประสานหน่วยงานยุติธรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ ในกรณีมีปัญหาหรือข้อพิพาททางกฎหมาย