คลังเก็บแท็ก: นายอภิชา สุขจีน

การเสริมสร้างเครือข่ายจิตอาสาวิถีพุทธในการพัฒนาพื้นที่เชิงสร้างสรรค์ของตำบลทุ่งกวาว อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่

ชื่อรายงานการวิจัยการเสริมสร้างเครือข่ายจิตอาสาวิถีพุทธในการพัฒนาพื้นที่เชิงสร้างสรรค์ของตำบลทุ่งกวาว อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่
ผู้วิจัยนายอภิชา สุขจีน
ส่วนงานมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ 
 ปีงบประมาณ๒๕๖๕
ทุนอุดหนุนการวิจัยกองทุนวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ 
          

           การศึกษาวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาเครือข่ายจิตอาสาวิถีพุทธในการพัฒนาพื้นที่เชิงสร้างสรรค์ของตำบลทุ่งกวาว อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ๒) เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายจิตอาสาวิถีพุทธใน
การพัฒนาพื้นที่เชิงสร้างสรรค์ของตำบลทุ่งกวาว อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ๓) เพื่อนำเสนอรูปแบบการเสริมสร้างเครือข่ายจิตอาสาวิถีพุทธในการพัฒนาพื้นที่เชิงสร้างสรรค์ของตำบลทุ่งกวาว อำเภอเมืองแพร่ 
จังหวัดแพร่ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (QualitativeResearch)
การศึกษาจากหนังสือ เอกสาร ตำรา งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มจิตอาสาในพื้นที่จำนวน ๒๐ รูป/คน สรุปผลการวิจัย ดังนี้
          เครือข่ายจิตอาสาวิถีพุทธในพื้นที่ชุมชนตำบลทุ่งกวาว อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ มีทั้งหมด ๒๐ กลุ่มจิตอาสา แบ่งออก ๓ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มจิตอาสาด้านสังคมสงเคราะห์ กลุ่มจิตอาสาด้านประเพณีวัฒนธรรม และกลุ่มจิตอาสาด้านความสะอาดในชุมชน โดยแต่ละกลุ่มจิตอาสานั้น มีบทบาทหน้าที่ในการปฏิบัติงานที่แตกต่างกัน คือ ๑) กลุ่มจิตอาสาด้านสังคมสงเคราะห์ มีบทบาทและหน้าที่ในการช่วยเหลือ และให้คำแนะนำกลุ่มผู้ประสบปัญหาในชุมชน ทั้งในด้านสุขภาพ การดำเนินชีวิตและครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ยากจน กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้พิการ ๒) กลุ่มจิตอาสาด้านวัฒนธรรมประเพณี มีบทบาทและหน้าที่ในการช่วยเหลืองานด้านวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน และ ๓) กลุ่มจิตอาสาด้านความดูแลความสะอาดชุมชน มีบทบาทหน้าที่ในการช่วยดูแลความสะอาดของชุมชนตำบลทุ่งกวาว โดยจะมีการรวมกลุ่มในการพัฒนาชุมชนในโอกาสสำคัญต่าง
          การศึกษาการเสริมสร้างเครือข่ายจิตอาสาวิถีพุทธในการพัฒนาพื้นที่เชิงสร้างสรรค์ของตำบลทุ่งกวาวนั้น มีกระบวนการเสริมสร้างเครือข่ายจิตอาสา ๓ ด้าน คือ ๑) กระบวนการสร้างความร่วมมือเป็นกระบวนการที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการช่วยเหลือและสนับสนุนให้กิจกรรมที่ดำเนินการสำเร็จลุล่วงโดยอาศัยเทคนิค 3S’s ในการสร้างความร่วมมือและการสนับสนุนจากชุมชน ๒) กิจกรรมที่ดำเนินการ เป็นกิจกรรมที่ทางกลุ่มเครือข่ายจิตอาสาร่วมกับชุมชนได้ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อกเป็นการช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ และสนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกัน เป็นกิจกรรมด้านสาธารณะสงเคราะห์และสาธารณะประโยชน์ ที่มีผลประโยชน์ของชุมชนเป็นสำคัญ ผ่านการขับเคลื่อนโดยกลุ่มเครือข่ายจิตอาสา และ ๓) ผลลัพธ์ของการดำเนินกิจกรรม เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มเครือข่ายจิตอาสา ที่ก่อให้เกิดความตระหนักให้กับคนในชุมชนในการช่วยเหลือแบ่งปันร่วมกันพัฒนาและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และร่วมกันพัฒนาให้ชุมชนตำบลทุ่งกลาวเป็นพื้นที่สร้างสรรค์
          รูปแบบการเสริมสร้างเครือข่ายจิตอาสาวิถีพุทธในการพัฒนาพื้นที่เชิงสร้างสรรค์ของตำบลทุ่งกวาว อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ มีทั้งหมด ๔ รูปแบบ คือ 
๑) การสร้างความตระหนักเป็นการปลูกฝังจิตใจให้บุคคลมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม เป็นการสร้างคุณธรรมจริยธรรมซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดจากภายใน 
“จิตอาสา” 
๒) การสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน เป็นการมีส่วนร่วมของประชาชน คือ กระบวนการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานพัฒนา ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจแก้ปัญหาของตนเอง ร่วมใช้ความคิดสร้างสรรค์ความรู้และความชำนาญร่วมกับเครือข่ายจิตอาสาที่เหมาะสม ๓) การขับเคลื่อนเครือข่ายจิตอาสาวิถีพุทธ เป็นการขับเคลื่อนเครือข่ายจิตอาสาวิถีพุทธภายในชุมชนตำบลทุ่งกวาวเป็นการดำเนินงานที่มีกลุ่มจิตอาสา ร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชนในพื้นที่เป็นผู้ขับเคลื่อนในการดำเนินกิจกรรมร่วมกัน ๔) การนำหลักพุทธธรรมไปประยุกต์ใช้ เป็นการพัฒนาเครือข่ายจิตอาสาวิถีพุทธโดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดความสงบสุข ทั้งในระดับครอบครัวและชุมชน