คลังเก็บแท็ก: นางสาวสุพิชญา กันกา

การส่งเสริมระบบความยุติธรรมชุมชนแบบสันติวิธีของตำบลทุ่งกวาวอำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่

ชื่อรายงานการวิจัยการส่งเสริมระบบความยุติธรรมชุมชนแบบสันติวิธีของตำบลทุ่งกวาวอำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่
ผู้วิจัยนางสาวสุพิชญา กันกา
ส่วนงานมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ 
 ปีงบประมาณ๒๕๖๕
ทุนอุดหนุนการวิจัยกองทุนวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ 
          

          การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษากระบวนการยุติธรรมของชุมชน ตำบลทุ่งกวาวอำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ เพื่อส่งเสริมการจัดการระบบยุติธรรมชุมชนตำบลทุ่งกวาว อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ เพื่อเสนอระบบการจัดการยุติธรรมชุมชนแบบสันติวิธีของตำบลทุ่งกวาว อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่การดำเนินงานวิจัยนี้เป็นการดำเนินงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)มีการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก 
(In Depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants)และสนทนากลุ่มเฉพาะ (Focus Group Discussions)
          ผลการวิจัยพบว่า กระบวนการยุติธรรมชุมชนของตำบลทุ่งกวาว เป็นไปในรูปแบบการประสาน
การเจรจา การไกล่เกลี่ย และการตัดสินข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทของชุมชนผ่านผู้นำท้องที่ของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน หรือผู้ทรงคุณวุฒิในหมู่บ้านชุมชนเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งการเจรจา ไกล่เกลี่ย ระงับข้อพิพาทผ่านผู้นำทางศาสนา โดยวิธีการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ณ สถานที่ที่เกิดข้อพิพาท สถานที่ที่สะดวกต่อการเดินทางของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย สถานที่ที่ทำการกำนัน 
ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หรือเทศบาลตำบลทุ่งกวาวตามแต่ลกลงกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างคู่กรณี โดยมากแล้วจะเป็นการเจรจา ไกล่เกลี่ย ระงับข้อพิพาทที่ไม่มีข้อยุ่งยาก เป็นการรับฟังและร่วมหาทางออกของปัญหาโดยคู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้รับความพึงพอใจ ได้ทางออกเพื่อเยียวยาผู้ถูกกระทำและผู้กระทำผิด ซึ่งการหาทางออกนี้ไม่ใช่หาแนวทางเพื่อการแก้แค้นลงโทษผู้กระทำผิดการส่งเสริมการจัดการระบบยุติธรรมชุมชนตำบลทุ่งกวาว เกิดขึ้นโดยการที่คนในชุมชนไม่ว่าจะเป็นผู้นำชุมชน ข้าราชการในพื้นที่ คณะกรรมการหมู่บ้าน เทศบาลตำบล ผู้นำองค์กรหรือกลุ่มอาชีพ ตำรวจชุมชนประจำตำบล เจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เปิดใจ เปิดโอกาสเห็นชอบ และให้ความร่วมมือในการตั้งศูนย์ยุติธรรมชุมชนตามคำสั่งกระทรวงยุติธรรม 
เพื่อดำเนินงานด้านการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทให้เป็นระบบ มีการสร้างเครือข่ายยุติธรรมชุมชนในการรวมตัวกันเพื่อป้องกันและบรรเทาอาชญากรรม การจัดการข้อขัดแย้งภายในชุมชน ทางด้านเทศบาลตำบลทุ่งกวาวได้มี
การอำนวยความสะดวกในเรื่องของการจัดตั้งศูนย์ยุติธรรมชุมชนในเรื่องของการแต่งตั้งคณะกรรมการยุติธรรมชุมชน บุคลากร เจ้าหน้าที่ อำนวยความสะดวกในเรื่องของสถานที่ และมีการส่งเสริม พัฒนาประชาชนในเรื่องของการมีรายได้ มีอาชีพ เพื่อจะช่วยอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และประหยัด















          


         









แนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้กฎหมายมรดกสำหรับพระสงฆ์ในจังหวัดแพร่

ชื่อรายงานการวิจัยแนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้กฎหมายมรดกสำหรับพระสงฆ์ในจังหวัดแพร่
ผู้วิจัยนางสาวสุพิชญา กันกา
ส่วนงานมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ 
 ปีงบประมาณ๒๕๖๔
ทุนอุดหนุนการวิจัยกองทุนวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ 
           การศึกษาวิจัยเรื่อง “แนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้กฎหมายมรดกสำหรับพระสงฆ์ในจังหวัดแพร่” ครั้งนี้ผู้วิจัยทำการศึกษาแนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้กฎหมายมรดกสำหรับพระสงฆ์ในจังหวัดแพร่ 
มีวัตถุประสงค์ในการวิจัยคือ ๑) เพื่อศึกษากฎหมายมรดกสำหรับพระสงฆ์ ๒) เพื่อศึกษาสภาพทั่วไปของการส่งเสริมการเรียนรู้กฎหมายมรดกสำหรับพระสงฆ์ 
๓) เพื่อเสนอแนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้กฎหมายสำหรับพระสงฆ์ในจังหวัดแพร่ ทำการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ (QualitativeResearch) คณะผู้วิจัยได้ศึกษาข้อมูลจากเอกสาร ตำรา และสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มประชากรที่กำหนด(In-depth-interview) คือพระสงฆ์ในจังหวัดแพร่ จำนวน ๒๐ รูป
           ผลการวิจัยพบว่า จากการสัมภาษณ์เรื่องสภาพทั่วไปของการส่งเสริมการเรียนรู้กฎหมายมรดกสำหรับพระสงฆ์ในจังหวัดแพร่ ใน ๓ ประเด็น คือ ด้านองค์ความรู้ ด้านเนื้อหา และด้านประโยชน์ ในด้านองค์ความรู้พระสงฆ์ส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายมรดกในขั้นพื้นฐานด้านเนื้อหาพระสงฆ์ส่วนใหญ่มีความเห็นว่ากฎหมายมรดกในประเด็น พินัยกรรม มีประโยชน์ต่อการบริหารจัดการภายในวัดมากที่สุด เพราะเห็นว่าเมื่อพระสงฆ์สามารถทำพินัยกรรมได้อย่างถูกต้องก็จะลดปัญหาความขัดแย้งในเรื่องของการจัดการ การแบ่งปันทรัพย์มรดกได้ ด้านประโยชน์กฎหมายมรดกมีประโยชน์ต่อการบริหารจัดการวัดทั้ง ๖ ด้าน เพราะกฎหมายมรดกช่วยให้ได้มาหรือรักษาทรัพย์สินของวัด เพื่อเป็นปัจจัยสนับสนุนและส่งเสริมให้การบริหารจัดการวัดทั้ง ๖ ด้าน
          สำหรับแนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้กฎหมายสำหรับพระสงฆ์ในจังหวัดแพร่นั้นพบว่า มีแนวทางที่สำคัญ ๔ ประการ ๑) การบริการให้ความรู้ทางกฎหมายมรดกแก่พระสงฆ์ คือการจัดโครงการเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายมรดกให้แก่พระสงฆ์ ๒) การสนับสนุนให้พระสงฆ์เข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีทางด้านนิติศาสตร์ 
๓) สนับสนุนให้พระสงฆ์ที่มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายมรดกเผยแผ่ความรู้ที่ได้จากการศึกษากฎหมายมรดกสู่คณะสงฆ์เป็นพระลูกวัดและคณะศรัทธาประชาชน ในโอกาสต่าง ๆ ๔) สนับสนุนส่งเสริมให้วัดเป็นสถานที่ไกล่เกลี่ยปรองดองเบื้องต้นหากเกิดข้อพิพาทเล็ก ๆ น้อย ๆ ทางกฎหมายมรดก








การศึกษาความรูhความเข้าใจและแนวทางการพัฒนาของผู้นำชุมชนในเรื่องกฎหมายมรดก :กรณีศึกษาในตำบลป่าแดง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่

ชื่อรายงานการวิจัยการศึกษาความรู้ความเข้าใจและแนวทางการพัฒนาของผู้นำชุมชนในเรื่องกฎหมายมรดก : กรณีศึกษาในตำบลป่าแดง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่
ผู้วิจัยนางสาวสุพิชญา กันกา
ส่วนงานมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ 
 ปีงบประมาณ๒๕๖๓
ทุนอุดหนุนการวิจัยกองทุนวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ 
            การศึกษาวิจัยเรื่อง “การศึกษาความรู้ความเข้าใจและแนวทางการพัฒนาของผู้นำชุมชนในเรื่องกฎหมายมรดก : กรณีศึกษาในตำบลป่าแดง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่” มีวัตถุประสงค์ใน การศึกษาวิจัยคือ 

            ๑) เพื่อศึกษาความรู้ความเข้าใจในกฎหมายมรดกของผู้นำชุมชน และ ๒) เพื่อศึกษาแนวทางในการพัฒนาผู้นำชุมชนในเรื่องกฎหมายมรดก ทำการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) คณะผู้วิจัยได้ศึกษาข้อมูลจากเอกสาร ตำรา และลงพื้นที่ภาคสนาม (FieldStudy) ในตำบลป่าแดง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ โดยใช้แบบสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depthinterview) กับกลุ่มเป้าหมายจำนวน 30 คน และสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussions) จำนวน 10 คน

          ผลการวิจัยพบว่า มรดกในความเข้าใจของผู้นำชุมชนในเรื่องกฎหมายมรดกนั้น ส่วนใหญ่มีความเข้าใจว่ามรดก หมายถึง สิ่งที่ทายาทได้รับตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินทุกชนิด เช่น ที่ดิน บ้าน รถยนต์ เครื่องประดับ อัญมณี ทรัพย์สินเงินทอง เงินในธนาคาร ที่มีมาก่อนที่เจ้าของจะถึงแก่ความตาย รวมทั้งสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ เช่น กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ กรรมสิทธิ์ในที่ดิน รวมถึงหนี้สิน โดยจะเป็นมรดกตกทอดสู่ทายาทก็ต่อเมื่อเจ้าของถึงแก่ความตาย ซึ่งทายาท มี ๒ ประเภท คือ ทายาทโดยธรรม หมายถึง บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย หลาน เหลน บิดา มารดา พี่ น้อง สามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ทายาทโดยพินัยกรรม คือ ผู้ที่ถูกระบุไว้ในพินัยกรรมตามคำสั่งเสียของเจ้ามรดกนั่นเอง ซึ่งผู้นำชุมชนส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายมรดกในขั้นพื้นฐานแต่ยังไม่ครอบคลุมประเด็นที่สำคัญอื่น ๆ 

          สำหรับแนวทางในการพัฒนาผู้นำชุมชนในเรื่องความรู้ความเข้าใจในกฎหมายมรดกนั้นพบว่า มีแนวทางที่สำคัญ ๔ ประการ คือ ๑) การบริการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ผู้นำชุมชน คือการจัดโครงการเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายมรดกให้แก่ผู้นำชุมชน ๒) จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพด้านกฎหมายให้กับผู้นำชุมชน โดยการจัดตั้งคลินิกกฎหมาย หรือคลินิกยุติธรรม หรือศูนย์ให้คำแนะนำด้านกฎหมายเคลื่อนที่ให้กับผู้นำชุมชน ๓) ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เรื่องกฎหมายมรดกสามารถทำผ่านสื่อต่าง ๆ ของชุมชน เสียงตามสายในหมู่บ้าน หนังสือพิมพ์ในท้องถิ่น สื่อออนไลน์ต่าง ๆ ๔) จัดตั้งศูนย์ประสานงานของผู้นำชุมชนในพื้นที่ ทำหน้าที่ประสานหน่วยงานยุติธรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ ในกรณีมีปัญหาหรือข้อพิพาททางกฎหมาย